สำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เกาหลีใต้เผยผลวิจัยว่า พฤติกรรมการเสพติดสมาร์ทโฟนของกลุ่มผู้ใช้ในช่วงอายุระหว่าง 20-30 ปี อาจเป็นสาเหตุของโรคหมอนรองกระดูกบริเวณลำคอเสื่อมได้ โดยพบว่า ในแต่ละปีมีคนเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 8.1% นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา สมาร์ทโฟนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ใช้เสพติดการใช้โทรศัพท์มากกว่าวันละ 4 ชั่วโมง จนเสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 12.1% ขณะที่โดยทั่วไปแล้ว คนวัย 80 ปีขึ้นไปมักมีอาการกระดูกเสื่อมสภาพตามอายุขัย
จากผลวิจัยดังกล่าว สาระสุขสัปดาห์ขอนำข้อมูลเรื่องโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมานำเสนอ เนื่องจากทุกวันนี้ไลฟ์สไตล์ของคนเราเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่กำลังทำลายสุขภาพโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือตลอดทั้งวันไม่ว่าจะยืน นั่ง หรือแม้กระทั่งเดินจนเป็นความเคยชินนั้น ทำให้หลายคนมองข้ามอันตรายไปว่าพฤติกรรมเหล่านี้กำลังเป็นภัยอย่างยิ่งต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง
หมอนรองกระดูก คืออวัยวะชิ้นสำคัญที่มีหน้าที่คั่นกระดูกสันหลังหลายๆ ชิ้นที่เรียงต่อกันของเรา หมอนรองกระดูกไม่ได้เป็นกระดูก แต่จะประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ วงรอบนอกจะเป็นเอ็นแข็งๆ (Anular ligament) และใจกลางจะเป็นเหมือนเจลใสๆ (Nucleus pulposus) ทั้งหมดมีหน้าที่รับแรงกระแทกและทำให้เราเคลื่อนไหวกระดูกสันหลังได้ดีขึ้น
หมอนรองกระดูกสันหลังกับเส้นประสาทอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ไกลกัน เมื่อไรก็ตามที่หมอนรองกระดูกยื่นออกมาทางด้านหลังเยื้องไปด้านข้างก็สามารถกดทับเส้นประสาทได้ สาเหตุที่ทำให้แกนภายในของหมอนรองกระดูกยื่นออกมาทับเส้นประสาทเกิดได้จากการที่ร่างกายมีขอบของหมอนรองกระดูกไม่เท่ากันมาแต่กำเนิด หรือจากอุบัติเหตุ หรือการที่เราอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานมากจนเกิดการอักเสบ ซึ่งจะมีอาการปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นอาการเด่นของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ปวดมากหรือปวดน้อยขึ้นอยู่ว่ากดมากหรือน้อย
ด้านการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการกดทับเส้นประสาท การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดมีเพียงระยะแรกเท่านั้น หากปล่อยให้อาการรุนแรงกว่านี้ก็จะต้องรักษาโดยการผ่าตัด สิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้โรคเลื่อนจากระยะแรก.