กระทรวงวิทยาศาสตร์และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ แถลงปรากฏการณ์ท้องฟ้าหายาก ที่ผู้คนทั่วโลกรวมทั้งคนไทยจะมีโอกาสได้ชมอีกครั้ง เมื่อดาวหางไอซอน ซึ่งเป็นวัตถุหนึ่งในระบบสุริยะ คือ เป็นก้อนน้ำแข็งสกปรกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 กิโลเมตร จะโคจรพุ่งเฉียดดวงอาทิตย์ใกล้ที่สุดที่ระยะ 1.2 ล้านกิโลเมตร จากผิวดวงอาทิตย์ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน หรือเช้าวันที่ 29 พฤศจิกายนตามเวลาประเทศไทย แต่ในช่วงดังกล่าวจะมองไม่เห็นดาวหางเพราะถูกแสงอาทิตย์บดบัง ต้องรอชมในช่วงก่อนเฉียด วันที่ 15-25 พฤศจิกายน และหลังเฉียด วันที่ 3-15 ธันวาคม ในเวลาเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นประมาณตี 4 ครึ่ง ทางทิศตะวันออก บริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว
นายบุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ทั่วประเทศไทย มีโอกาสเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นริ้วยาวพาดผ่านท้องฟ้า และอาจมองเห็นดาวหางอีก 3 ดวงในเวลาเดียวกันด้วย คือ ดาวหางเลิฟจอย ดาวหางลีเนีย และดาวหางเองเค การมาเยือนของดาวหางไอซอนครั้งนี้ คาดว่าจะเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดในรอบหลายปี และยังเป็นการโคจรเข้ามาในระบบสุริยะเพียงเที่ยวเดียวและจะไม่กลับมาอีก เป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่นักดาราศาสตร์ทั่วโลกเฝ้าจับตามองว่าจะรอดพ้นจากการแตกสลายในช่วงที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดหรือไม่ และจะเป็นโอกาสในการศึกษาด้านดาราศาสตร์ของเยาวชนโดยสามารถเข้าชมและร่วมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์นี้ได้ที่หอดูดาวภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ.
ที่มา - inn