เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พระเอกหนุ่ม ซี-ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ ต้องสูญเสียคุณแม่สุดที่รัก อี๊ด-สุวรรณี อย่างกะทันหัน หลังจากเข้ารับการผ่าตัดหัวเข่าที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน โดยพระเอกหนุ่มเผยต่อสื่อว่า ไม่ติดใจไม่โทษว่าเป็นความผิดของทางโรงพยาบาล และคงจะไม่พิสูจน์อะไรเพราะมันไม่มีความจำเป็น ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นความผิดของทางโรงพยาบาล ลิ้มเลือดอุดตันไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้
และนั่นอาจเป็นเรื่องที่หลายคนมีความกังวล แต่ความจริงแล้วการรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดนั้น ถือเป็นวิธีที่ปลอดภัย นายแพทย์พิพัฒน์ องค์น้ำทิพย์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี เผยว่า ประเทศไทยการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อมไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทุกวันนี้ด้วยจำนวนประชากร และพัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก จึงทำให้คนเรามีอายุยาวนานขึ้น และแน่นอนว่าเมื่อยืดอายุตัวเองได้มากขึ้น ภาวะที่จะเกิดความเสื่อมของร่างกายจึงมีมากตามไปด้วย โดยทั่วไปการผ่าตัดทุกอย่างล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น แต่สำหรับการผ่าตัดข้อเข่านั้น ส่วนใหญ่มักจะพบในผู้สูงอายุ ซึ่งมีโรคประจำตัวอยู่ด้วยแล้ว ดังนั้นคนไข้ต้องมีความพร้อมสมบูรณ์แข็งแรงที่สุด แพทย์ต้องเช็คทุกระบบในร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียด ซึ่งที่เน้นก็คือระบบหัวใจ และโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก่อนหน้านี้
"ส่วนเรื่องของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในขณะผ่าตัดข้อเข่านั้น ก็เป็นความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้ สาเหตุนั้นเกิดจากเลือดในเส้นเลือดดำเกิดการแข็งตัวจนเป็นลิ่มที่บริเวณขาข้างที่จะทำการผ่าตัด ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี ขาของผู้ป่วยจึงมีอาการบวมขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือลิ่มเลือดที่เคยเกาะอยู่ที่ขาเกิดหลุดลอยไปที่ปอด เกาะอยู่ตามเส้นเลือดฝอย ทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่สะดวก ปอดไม่สามารถรับออกซิเจนเข้าไปได้ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการเดินทางของลิ่มเลือดสู่ปอดนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ว่าใช้เวลานานแค่ไหน อาจเกิดภายในไม่กี่วันหลังผ่าตัด หรือนาน 2-3 เดือนก็เป็นไปได้" นายแพทย์พิพัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ ศัลยแพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อ กล่าวเกี่ยวกับความรุนแรงของภาวะนี้ว่า ปริมาณของลิ่มเลือดที่เข้าไปอุดตันในปอดก็มีส่วนสำคัญมาก ถ้ามีปริมาณลิ่มเลือดที่เข้าไปเล็กน้อยความเสียหายของปอดก็จะไม่มากนัก แต่ถ้าเข้าไปปริมาณมาก โอกาสที่ผู้ป่วยจะหายใจไม่ออกก็ยิ่งมากขึ้น จะมีอาการหอบ เหนื่อย หายใจเร็วและถี่ ซึ่งอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต โรคลิ่มเลือดอุดตันในปอดจึงมีความรุนแรง และเกิดขึ้นฉับพลัน ไม่มีใครทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แพทย์ต้องให้การป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้ เช่นการให้ผู้ป่วยได้เคลื่อนไหว ขยับตัวเร็วขึ้น หรือหากมีปัจจัยเสี่ยงมาก แพทย์อาจจะพิจารณาให้ที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เพื่อลดโอกาสจากโรคนี้ให้เกิดน้อยที่สุด.