กลายเป็นพาดหัวใหญ่ในสื่อนอก เมื่อแองเจลิน่า โจลี นักแสดงชื่อดัง ออกมาเปิดเผยว่า ได้ทำการผ่าตัดเต้านมทิ้งทั้ง 2 ข้างเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เหตุเพราะเธอมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมถึง 87% และมะเร็งรังไข่ถึง 50% ซึ่งการผ่าตัดเต้านมครั้งนี้ ทำให้ความเสี่ยงในการจะเกิดโรคมะเร็งของเธอนั้นลดลงเหลือเพียง 5% เท่านั้น
แต่สำหรับหญิงไทยที่ใจยังไม่เด็ดขาดพอ สาระสุขสัปดาห์นี้ขอผ่ากลางสัปดาห์นำวิธีสังเกตความผิดปกติของเต้านมของตัวเอง เบื้องต้นอาจใช้วิธีการคลำเต้านมเองอยู่ 3 แบบคือ 1. คลำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดเบาๆที่เต้านมจากยอดสู่ฐานโดยหมุนเป็นลักษณะก้นหอย, 2. คลำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดเบาๆที่เต้านมตามแนวเส้นตรงขึ้น-ลงจากด้านข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งของแต่ละเต้า และ3. คลำโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางกดเบาๆที่เต้านมจากด้านข้างขึ้น-ลงซีกแซกต่อเนื่องจนทั่วเต้านม
สำหรับในกลุ่มผู้หญิงที่อายุยังน้อย แต่เกิดเป็นโรคนี้ แน่นอนว่าการสูญเสียเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างไปจากการรักษา คงเป็นเรื่องที่ทรมานใจมาก เพราะผู้หญิงยังต้องการความสมบูรณ์ในสรีระของตัวเองอยู่ การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันนี้จึงมีทางเลือกใหม่ด้วยการเสริมเติมเต็มเต้านมจากการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกที่สามารถทำได้ทันทีในคราวเดียวกัน โดยใช้เนื้อส่วนแผ่นหลัง และท้องน้อยของผู้ป่วยมาใช้
ผศ.พญ.เยาวนุช คงด่าน ผู้อำนวยการ Breast Center โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายถึงเทคนิคการผ่าตัดว่า เป็นการย้ายไขมัน และกล้ามเนื้อที่ท้องหรือแผ่นหลังของผู้ป่วยมาปลูกถ่าย เพื่อทดแทนส่วนที่เสียไป โดยจะใช้เวลาในประมาณ 4-5 ชั่วโมง ข้อดีของการผ่าตัดวิธีนี้คือ เป็นการถือโอกาสกำจัดไขมันส่วนเกินหน้าท้องไปพร้อมกัน แถมยังได้เต้านมที่สวยงามกลับมาทันที แต่ข้อเสียก็คืออาจใช้ระยะเวลาในการพักฟื้นอย่างน้อย 5-7 วัน
ในส่วนของการเลาะกล้ามเนื้อแผ่นหลังเพื่อเสริมเต้านั้นที่ผ่านมาวิธีนี้มีข้อจำกัดในการเลาะกล้ามเนื้อ ทำให้ได้ปริมาณไม่เพียงพอ ซึ่งต้องใช้แพทย์ที่มีความชำนาญสูง ศัลยแพทย์จะต้องมีความรู้เชี่ยวชาญตั้งแต่การประเมินปริมาณ และการทำงานของกล้ามเนื้อแผ่นหลัง เพราะจะสามารถประมาณขนาดของเต้านมที่เสริมสร้างมาใหม่ได้ ข้อดีของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้คือ ใช้เวลาพักฟื้นเพียง 3-4 วันเท่านั้น เนื่องจากกล้ามเนื้อแผ่นหลังมีการสมานและเลือดหล่อเลี้ยงได้ดีกว่า แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬา หรือผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องใช้กล้ามเนื้อหนักๆ หลังการผ่าตัดอาจไม่สามารถใช้งานได้เต็มที่เหมือนเดิม
ทั้งนี้ การผ่าตัดเสริมเต้านมใหม่พร้อมกับการกำจัดเนื้อร้ายทั้ง 2 วิธีนี้แม้ว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ และมีความสุขเหมือนเดิมแล้ว แพทย์ยังต้องให้การรักษาร่วมกับวิธีอื่นเพื่อลดโอกาสการเกิดซ้ำในช่วง 2-3 ปีแรกของการรักษา ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องหมั่นมาตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำหลังผ่านการรักษาโรคมะเร็งไปแล้วจะดีที่สุด.